กลไกลแห่งความสำเร็จของสินค้าใหม่ในตลาด

05 พ.ย. 2565

NOTE:

โดยปกติแล้วเรามักจะวัดความสำเร็จพื้นฐานของการทำธุรกิจจากยอดขายสินค้าแต่ละตัวที่ขายได้และผลสุดท้าย สินค้าแต่ละตัวทำกำไรให้บริษัทได้หรือไม่ ถ้าสินค้าที่ทำออกมามียอดขายที่สูงและเป็นแหล่งทำกำไรที่มั่นคงก็นับว่า ธุรกิจประสบความสำเร็จกับสินค้าตัวนั้น กรณีสินค้าที่ขายอยู่เป็น Commodities ที่เป็นที่คุ้นเคยของผู้บริโภคอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นสบู่ ยาสีฟัน ปากกา โทรศัพท์มือถือ ผู้ประกอบการก็จะเลือกกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ที่โดดเด่นเพื่อให้สินค้ามีความแตกต่างจากคู่แข่ง ขณะเดียวกันก็ยังใช้การแข่งขันด้านราคาเพื่อดึงดูดการซื้อจากผู้บริโภค กล่าวคือสินค้าที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วในตลาดจะเน้นการแข่งขันด้านแบรนด์และราคาเป็นหลักนั่นเอง 

แต่สินค้าที่ผลิตขึ้นมาใหม่ด้วยนวัตกรรมและไม่เคยมีขายมาก่อนในตลาดนั้น ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จนั้นย่อมแตกต่างจากสินค้าปกติที่เป็นที่รับรู้อยู่แล้วในตลาด ทั้งนี้เนื่องจากเป็นสิ่งที่ใหม่ในสายตาของทั้งผู้บริโภคและผู้กำกับดูแลของภาครัฐ ทำให้ตลาดของสินค้าใหม่นั้นไม่สามารถใช้กลยุทธ์ด้านแบรนด์และราคาแบบสินค้าปกติได้ อีกทั้งธุรกิจเองก็ต้องแบกรับความเสี่ยงในฐานะผู้ลงทุนรายแรกในตลาดอีกด้วย โดยสินค้าใหม่นั้นจำเป็นต้องพึ่งปัจจัยขับเคลื่อน 3 ประการได้แก่ เทคโนโลยีที่ดี การยอมรับของตลาด และกฎหมายกฎระเบียบต่างๆที่ตีกรอบการแข่งขัน

ในส่วนของกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆนั้นมีทั้งกฎที่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนพัฒนาตัวสินค้า เอื้อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าตัวใหม่ได้ในราคาที่ไม่สูงหรือเสนอประโยชน์บางอย่างที่น่าสนใจ อีกแง่หนึ่งกฎระเบียบในตลาดก็อาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนาสินค้า เพิ่มภาระด้านต้นทุนและการดำเนินงาน และทำให้ผู้บริโภคมีต้นทุนการเข้าถึงที่สูงได้เช่นกัน ฉะนั้นแล้วกฎหมายกฎระเบียบต่างๆจึงเป็นกรอบที่จะกำหนดการแข่งขันว่าจะเอื้อหรือบั่นทอนศักยภาพการเติบโตของสินค้าใหม่ในตลาดเพียงใด 

ในเรื่องของเทคโนโลยีนั้นในขั้นแรกของการพัฒนาสินค้า ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูง ขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับความเสี่ยงที่เทคโนโลยีนั้นจะตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งานของผู้บริโภคด้วย เทคโนโลยีที่นิ่งแล้วย่อมทำให้สินค้าที่ออกมาไม่มีข้อผิดพลาดและสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีและแน่นอนในสายตายผู้บริโภคด้วย 

ข้อสุดท้ายคือการยอมรับในตลาด หากสินค้าที่ออกมานั้นได้รับการยอมรับจากผู้ซื้อในตลาด ผู้ผลิตย่อมมีความมั่นใจในการลงทุนขยายการผลิตสินค้าตัวนี้ ทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนและเห็นโอกาสในการพัฒนาแบรนด์ในอนาคต

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของสินค้าใหม่ที่เข้ามาทำตลาดและต้องอิงกับ 3 ปัจจัยข้างต้นก็คือ การใช้ไฟที่เกิดจากโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากสินค้าตัวนี้ยังเป็นเรื่องใหม่มากในวงการพลังงานบ้านเรา ผู้บริโภคเองก็ชินกับการใช้ไฟบ้านจากการไฟฟ้าอีกทั้งเงินลงทุนเริ่มต้นที่ไม่น้อย ทำให้การทำตลาดในช่วงแรกต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคในครัวเรือนและภาคเอกชนเห็นประโยชน์และหันมาใช้แผงโซลาร์มากขึ้น ตัวอย่างของกฎเกณฑ์ในช่วงแรกเลยก็คือ โครงการรับซื้อไฟจากแผงโซลาร์จากครัวเรือน ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าด้วยกฎเกณฑ์ที่เอื้อในช่วงแรก เทคโนโลยีที่เริ่มนิ่งและวางใจได้ อีกทั้งผู้บริโภคมีการรับรู้และคุ้นเคยมากขึ้น ทำให้ตลาดแผงโซลาร์ในปัจจุบันสามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองมากขึ้น มีผู้ให้บริการหลายรายที่เข้ามาแข่งขันในด้านราคาและการนำเสนอบริการที่แตกต่างกัน

โดยสรุปแล้ว การที่สินค้าใหม่จะประสบความสำเร็จในตลาดได้นั้น จำเป็นต้องอาศัย 3 ปัจจัยในช่วงตั้งต้นของการพัฒนา เพื่อเอื้อให้ผู้ผลิตสามารถยืดระยะในการพัฒนาและทำการตลาดในวงกว้างได้ โดยสินค้าใหม่นั้นต้องอาศัยกฎหมายกฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนาและการเข้าถึงของผู้บริโภค เทคโนโลยีที่นิ่งพอจนผู้ผลิตแน่ใจว่าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ลูกค้า และการยอมรับในวงกว้างของผู้บริโภค หากมีปัจจัยทั้ง 3 ข้อร่วมกัน สินค้าใหม่ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในตลาดได้

รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Facebook: http://bit.ly/sena_facebook
Youtube: http://bit.ly/sena_youtube
Drkessara: http://bit.ly/drkessara