เศรษฐกิจไทยดีขึ้นแล้ว?

04 พ.ย. 2565

ในช่วงนี้เราจะเห็นข่าวสารเรื่องของภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่น่าจะดีขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ขณะที่เราก็จะเห็นผู้คนมากมายตั้งคำถามถึงภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศว่าดีจริงอย่างที่ภาครัฐป่าวประกาศออกมาหรือเปล่า ทั้งนี้หากเรามาดูที่ตัวชี้วัดพื้นฐานที่สุดอย่าง GDP ที่ใช้วัดมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดภายในประเทศจะพบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอยู่ที่ 4.3% ซึ่งเป็นการเติบโตในระดับ 4% ครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี โดยมีแรงหนุนมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันในฟากของนักวิเคราะห์จากฝั่งเอกชนทั้งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีของธนาคารทหารไทยหรือ TMB Analytics และ Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ต่างก็มองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ น่าจะโตได้ 4% ต่อเนื่องจากปีทีแล้วเช่นกัน

 

จากข้อมูลที่ยกมาจะเห็นได้ว่าตัวเลขที่ออกมานั้นชี้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมนั้นมีการขยายตัวชัดเจน หากเราว่ากันตามทฤษฎีแล้ว วัฏจักรทางเศรษฐกิจและธุรกิจนั้นมีความสัมพันธ์ที่สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยในประเทศก็อยู่ในระดับที่ยังคงต่ำอยู่โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ยังคงอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 1.5% เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยที่ 6.20% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 4 ปี ด้วยสภาพที่เศรษฐกิจยังเติบโตและดอกเบี้ยที่ต่ำเช่นนี้ก็ย่อมทำให้ภาคเอกชนมองภาพเศรษฐกิจที่เป็นบวกและเห็นโอกาสในการลงทุน

การที่เกิดภาพที่ขัดกันในเรื่องของการรับรู้ภาพของเศรษฐกิจที่ต่างกันของคนกลุ่มต่างๆในสังคมแสดงให้เห็นว่า ภายใต้ภาพที่ดูดีของเศรษฐกิจไทยนั้น เรายังมีปัญหาในเรื่องของการกระจายตัวของรายได้และโอกาสในการเติบโตที่ไม่เท่ากันของภาคส่วนต่างๆในสังคม ดิฉันเองก็รู้สึกถึงมุมที่เป็นบวกและโอกาสที่มากขึ้นเนื่องจากกลุ่มที่เราทำธุรกิจด้วยนั้นเป็นลูกค้าในกลุ่มบน แต่หากเราจับภาพไปในตลาดกลุ่มที่ขายสินค้าให้กับผู้มีรายได้ปานกลางถึงระดับล่างนั้นภาพที่ออกมายังไม่สู้ดีนัก โดยที่ผ่านมาเราเผชิญกับปัญหาทางด้านราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับที่ยังสูงอยู่ ทำให้โอกาสด้านการเติบโตของรายได้ในกลุ่มนี้ยังมีจำกัดอยู่

ขณะเดียวกันหากเรามองไปที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยจะเห็นภาพของปัญหาในเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน โดยหากเราดูจากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลกจะพบว่า ในปี 2556 คนไทยในกลุ่ม 20% ของประชากรที่มีรายได้ต่ำสุดนั้นมีรายได้คิดเป็นแค่ 6.9% ของรายได้ประชาชาติ ขณะที่คนในกลุ่มบนสุด 20% ครอบครองส่วนแบ่งรายได้กว่า 45.1% ของทั้งหมดหรือเกือบครึ่งหนึ่ง ภาพตรงนี้สะท้อนให้ถึงโอกาสและศักยภาพที่ต่างกันของผู้คนในกลุ่มต่างๆของประเทศได้อย่างชัดเจน จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นคนจำนวนมากที่ยังมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นเนื่องจากมีคนจำนวนมากไม่ได้สัมผัสถึงการเติบโตที่สูงขึ้นของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา

ฉะนั้นแล้วแม้ว่าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะยังคงมีแรงขับเคลื่อนให้เติบโตได้ต่อเนื่องในปี 2561 เราก็ต้องมีความระมัดระวังในเรื่องของภาคส่วนที่เราเกี่ยวข้องอยู่เช่นกัน โดยผู้ที่ในอยู่ในส่วนของตลาดบน ตลาดต่างประเทศหรือเขตเมืองน่าจะยังได้รับอานิสงส์ที่ดีต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เติบโต รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเข้าไปตามเมืองใหญ่ๆ ขณะที่คนที่อยู่ใน segment ที่จับตลาดอื่นๆก็ต้องมีความระมัดระวังภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเนื่องมาจากตลาดในกลุ่มนี้ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบที่จะเข้ามากระทบโครงสร้างการแข่งขันในอนาคตได้
 

 

รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Facebook: http://bit.ly/sena_facebook
Youtube: http://bit.ly/sena_youtube
Drkessara: http://bit.ly/drkessara