ผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย

05 พ.ย. 2565

ข่าวใหญ่ในรอบสัปดาห์ที่ทุกคนจับตาก่อนสิ้นปีก็คือ ผลการประชุมคณะกรรมนโยบายการเงินหรือ กนง.ของแบงก์ชาติ ที่มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.50% เป็น 1.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา การขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ในระยะสั้นไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อตลาดมาก เนื่องจากทางแบงก์ชาติเองมีการส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้ และตลาดก็มีการคาดกันว่าปีนี้แบงก์ชาติเองน่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและมีการปรับตัวเพื่อรับรู้ข่าวนี้ไปล่วงหน้ามาก่อนแล้ว

 

คำถามที่ตามมาในตอนนี้ก็คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้าง ในระยะสั้นนี้เราคงยังไม่เห็นผลกระทบอะไรที่ชัดเจน เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายที่แบงก์ชาติปรับขึ้นนั้นเป็นดอกเบี้ยในตลาดเงินที่กระทบกิจกรรมการกู้ยืมระหว่างกันของธนาคารพาณิชย์ ฉะนั้นแล้วตราบใดที่แบงก์ต่างๆยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะยังมาไม่ถึงตัวผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในขณะนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอัตราดอกเบี้ยโดยทั่วไปกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ฉะนั้นแล้วจึงเป็นเรื่องยากที่แบงก์เองจะฝืนแนวโน้มในระดับมหภาคนี้ได้ ท้ายที่สุดเราคงจะเห็นแบงก์ทะยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและการกู้ยืมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์นั้นจะส่งผลกระทบโดยทั่วไปทั้งในส่วนของรายย่อยเองและผู้ประกอบการ ในส่วนของคนที่มีเงินฝากนั้น แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ย่อมชื่นชอบดอกเบี้ยในขาขึ้นเพราะผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเงินฝากจะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติโดยที่เจ้าของเงินไม่ต้องลงมือทำอะไรเลย ช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนนำเงินออมเงินเพิ่มขึ้น ขณะฝั่งหนึ่งคนที่กู้เงินก็จะเผชิญต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการกู้ยืมจากแบงก์นั้นเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัว ฉะนั้นแล้วผู้ประกอบการเองจะเผชิญต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทันทีโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

นอกจากผลกระทบโดยตรงในแง่ของอัตราดอกเบี้ยการฝากและกู้ยืมเงินที่สูงขึ้นแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นยังส่งผลให้การตัดสินใจลงทุนในโครงการต่างๆของภาคเอกชนมีความยากลำบากขึ้นด้วย ลองนึกภาพหากเรามีโครงการที่ให้ผลตอบแทนในรูปของ IRR ที่ 7% เทียบกับต้นทุนดอกเบี้ยที่ 4% โครงการนี้ย่อมคุ้มค่าที่จะลงทุนเมื่อพิจารณามุมของต้นทุนเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับ แต่หากต้นทุนการเงินปรับเป็น 5% โครงการเดิมที่ให้ IRR 7% ก็ย่อมทำให้โครงการเดิมมีความคุ้มค่าทางการลงทุนที่ลดลง ฉะนั้นแล้วหากต้องการโครงการใหม่ที่รักษาระดับคุ้มค่ากับต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นก็ย่อมต้องเสนอผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งตรงนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเกิดข้อจำกัดในการหาโครงการใหม่ๆที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน การลงทุนใหม่ๆย่อมทำได้ยากขึ้น

ในส่วนของรายย่อยเองที่มีหนี้ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้บริโภค หนี้บ้าน หนี้รถ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ย่อมเพิ่มภาระทางการเงินให้คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับการผ่อนชำระที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็ย่อมทำให้ต้นทุนการผ่อนชำระสินค้าที่เราจะซื้อใหม่สูงขึ้นด้วย ดังนั้นแล้วในภาวะที่ดอกเบี้ยสูงขึ้นก็ย่อมทำให้ผู้บริโภคชะลอการกู้เพื่อซื้อสินค้าใหม่ๆในอนาคตไปด้วย

โดยสรุปแล้ว การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาตินั้นจะเริ่มส่งผลกระทบชัดเจนเมื่อแบงก์พาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม โดยหากแบงก์เพิ่มดอกเบี้ยในอนาคตจะทำให้ผู้ฝากเงินได้ประโยชน์โดยตรงและมีแรงจูงใจที่จะออมเงินเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลกระทบต่อฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบการเองจะเผชิญผลกระทบที่คล้ายคลึงกันในแง่ที่นอกจากต้นทุนการเงินจะสูงขึ้นทันทีแล้ว การตัดสินใจใหม่ๆในอนาคตจะทำได้ยากขึ้นด้วย โดยผู้ประกอบการเองจะเผชิญความยากลำบากในการหาโครงการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคุ้มกว่าต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ฝั่งผู้บริโภคเองก็จะมีแนวโน้มที่จะไตร่ตรองการก่อหนี้เพื่อการซื้อครั้งใหม่มากขึ้นเช่นกัน