9 ค่าใช้จ่ายต้องเตรียมเมื่อจะซื้อบ้าน ซื้อคอนโด

02 พ.ย. 2565

คิดจะซื้อบ้านสักหลัง คอนโดสักห้อง เคยคิดมั้ยต้องเตรียมเงินเท่าไหร่สำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้อยู่ในยอดวงเงินกู้สินเชื่อ! เสนารวบรวม #9ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเมื่อคิดจะซื้อบ้านหรือคอนโด ที่เราอาจต้องเตรียมจ่ายเป็นเงินสดมาฝาก...สำหรับคนที่คิดจะลงหลักปักฐานมีที่พักอาศัยเป็นของตัวเอง จะได้เตรียมตัว เตรียมใจ และสำคัญที่สุดคือเตรียมความพร้อมของกระเป๋าสตางค์กันด้วยนะคะ

1. เงินก้อนแรกต้องเตรียม!

🔹 #เงินจอง
เงินจองหรือค่าจอง เป็นเงินที่เราจ่ายให้ผู้ขาย เพื่อรับประกันว่าเราจะซื้อบ้านหรือคอนโดนี้จริงๆ โดยเงินจองจะแตกต่างกันไปตามโปรโมชันของแต่ละโครงการ มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นขึ้นไป

🔹 #เงินทำสัญญา
หลังจากการจองประมาณ 7-14 วัน ผู้ขายจะติดต่อให้เราเข้าไปทำสัญญาซื้อขาย โดยระบุรายละเอียดต่างๆ ที่เราควรอ่านให้ครบถ้วนก่อนชำระเงินทำสัญญา ในส่วนของเงินทำสัญญาก็เช่นเดียวกับเงินจองคือทางโครงการจะกำหนดมาตามมูลค่าของบ้านหรือคอนโดที่เราซื้อ โดยเงินจองและเงินทำสัญญานี้จะรวมอยู่ในเงินดาวน์ของเรานั่นเอง

🔹 #เงินดาวน์
สำหรับการซื้อบ้าน เงินดาวน์จะมีตั้งแต่ 5% – 10% ของราคาบ้าน ส่วนคอนโด ถ้าเป็นโครงการที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างใหม่ๆ ผู้ซื้ออาจจะวางเงินดาวน์เป็นก้อนทีเดียว หรือแบบแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ตามเงื่อนไขโครงการ โดยจะอยู่ที่ 10 – 15 % ของราคาคอนโด
 

2. เงินระหว่างโอนกรรมสิทธิ์

🔹 #ค่าจดจำนอง
เมื่อถึงวันโอนกรรมสิทธิ์ จะมีค่าจดจำนอง 1% ของมูลค่าบ้านหรือคอนโดที่จดจำนอง เป็นการจ่ายให้กับสำนักงานที่ดินเพื่อเอาบ้านหรือคอนโดเป็นหลักประกันหนี้ให้กับธนาคาร ในกรณีที่มีการกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย

🔹 #ค่าธรรมเนียมการโอน
ค่าธรรมเนียมการโอนจะอยู่ที่ 2% ของราคาประเมิน โดยส่วนใหญ่จะแบ่งกันจ่ายคนละครึ่งหรือประมาณ 1% ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

🔹 #ค่าอากรสแตมป์
สำหรับการจดทะเบียนโอน กรมที่ดินจะเก็บค่าอากรแสตมป์ในอัตราร้อยละ 0.5 จากราคาซื้อขาย และเนื่องจากรัฐออกมาตราการลดค่าธรรมเนียมการโอน จาก 2% เป็น 0.01% และค่าจดจำนอง จาก 1% เป็น 0.01% สำหรับการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บ้าน คอนโด ทาวน์โฮม มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขคือต้องโอนและจดจำนองพร้อมกัน มีผลบังคับใช้จนถึงเดือนธันวาคม 2563 นี้

 

3. รายจ่ายส่วนสุดท้าย ระหว่างการอยู่อาศัย

🔹#ค่าส่วนกลาง
ถือเป็นค่าดูแลรักษาทรพัย์สินพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านหรือคอนโด จะคำนวณตามพื้นที่เป็นตารางเมตรของห้องชุด หรือถ้าเป็นหมู่บ้าน มักจะคำนวณตามพื้นที่เป็นตารางวาของบ้าน เช่น คอนโด 30 ตารางเมตร มีค่าส่วนกลางราคา 40 บาท/เดือน/ตร.ม. ค่าส่วนกลางที่เราต้องจ่าย 40 (ค่าส่วนกลาง) x 30 (ขนาดห้องตารางเมตร) x 12 (1 ปี) = 14,400 บาทต่อปี

🔹 #ค่ากองทุน
เงินก้อนนี้ ทางนิติบุคคลจะเรียกเก็บไว้เป็นกองทุนสำรอง สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายกองกลางในการบริหารจัดการในโครงการในระยะยาว โดยจะคำนวณตามพื้นที่ของห้อง เช่น ค่ากองทุน 500 บาทต่อตารางเมตร หากห้องชุด 30 ตารางเมตร เท่ากับเราต้องจ่ายให้โครงการ 15,000 บาท เป็นการชำระครั้งเดียว

🔹 #ค่าประกันมิเตอร์ไฟ
ในปัจจุบันโครงการมักจะออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้ก่อน และอาจมีการเรียกเก็บภายหลัง ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบรายละเอียดส่วนนี้กับทางโครงการให้ชัดเจน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ อาจมีทั้งค่าติดตั้งมิเตอร์ ค่าประกันมิเตอร์ ค่าประกันการใช้น้ำ-ไฟฟ้า รวมๆ กันจะอยู่ที่หลักพันจนถึงหลักหมื่น