ดิฉันได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนความรู้ในงานเสวนาที่มีชื่อว่า The Energist by EPPO ซึ่งจัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ในงานนี้ก็ได้มีการเชิญบริษัท startup และผู้เชี่ยวชาญมากมายมาร่วมหารือถึงการทำนโยบายด้านพลังงานในอนาคต และเมื่อเราพูดถึงนโยบายรัฐและภาคธุรกิจแล้ว นโยบายรัฐจะมีผลต่อภาคธุรกิจมาก หากภาคธุรกิจนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่กลไกทางการตลาดยังทำงานไม่สมบูรณ์ นโยบายรัฐจะมีผลมากในการกำหนดกฎกติกาในการแข่งขัน
ในงานเสวนานี้ ดิฉันได้มีโอกาสพูดถึงนโยบายเช่นกันในฐานะผู้ประกอบการที่ต้องมีการปรับตัวกับนโยบายต่างๆอยู่ตลอดเวลา คำถามสำคัญเมื่อนึกถึงเรื่องนโยบายก็คือ อะไรคือนโยบายที่ดี โดยเรื่องนโยบายนั้นคือการมองไปยังทิศทางในอนาคตที่จะกระทบผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและสังคมโดยรวม ความเห็นดิฉันก็คือ นโยบายที่ดีนั้นไม่ว่าด้านไหนต้องเป็นนโยบายที่สามารถนำไปใช้งานในภาคปฏิบัติได้จริง
หากเทียบจากประสบการณ์ในงานวิชาการที่เคยทำมา นโยบายรัฐนั้นก็เสมือนทฤษฎีทางวิชาการชิ้นหนึ่งที่เราทำออกมาทฤษฎีที่ดีนั้นต้องเป็นทฤษฎีที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในสังคม สามารถแก้ปัญหาในสังคมได้ ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ และเกิดการต่อยอดได้ ทำให้ประเทศและโลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น ขณะที่เราทำงานวิชาการที่สวยหรู มีทฤษฎีที่ดูสวยงาม ซับซ้อน แต่กลับหาประโยชน์ในโลกแห่งความเป็นจริงแทบไม่ได้เลย งานวิชาการเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากงานขึ้นหิ้งที่มีประโยชน์เฉพาะในวงวิชาการที่จำกัดเท่านั้น แต่ไม่สามารถก่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสังคมได้
ในงานเสวนานี้ดิฉันได้เจาะลึกลงไปที่นโยบายด้านพลังงาน อนาคตด้านนโยบายพลังงานนั้นจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผู้บริโภครายย่อยมากขึ้น สมัยก่อนนโยบายพลังงานเป็นเรื่องที่ไกลตัวผู้บริโภครายย่อยมากๆเพราะทุกคนมีหน้าที่แค่ซื้อไฟจากการไฟฟ้าฯ ถึงเวลาก็ไปจ่ายค่าไฟตามราคาที่มิเตอร์เท่านั้น แต่ในอนาคตการเข้ามาของพลังงานทดแทนจะมีผลทำให้ผู้บริโภครายย่อยมีทางเลือกมากขึ้น ผู้บริโภคในอนาคตจะเปลี่ยนฐานะจาก consumer ที่มีหน้าที่ใช้งานอย่างเดียวเป็น prosumer คือเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคพลังงานในเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตามจุดที่นโยบายพลังงานในอนาคตจะสามารถเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ไฟรายย่อยให้เข้ามาในตลาดพลังงานไฟฟ้าได้นั้น รัฐต้องออกนโยบายที่ลด barrier to entry คือ ต้องทำให้อุปสรรคในการเข้ามาเป็นผู้ผลิตไฟในระบบนั้นน้อยที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ
1.รัฐต้องเอื้อให้รายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในต้นทุนที่ต่ำและใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก ภาระทางการเงินในการใช้พลังงานทดแทนอย่างพลังงานโซลาร์นั้นต้องมีความสอดคล้องกับศักยภาพทางการเงินของคนทั่วไปในสังคม
โดยสรุปแล้วนโยบายที่ดีนั้นต้องสามารถนำไปใช้งานได้จริงในทางปฏิบัติ โดยก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน และเอื้อให้เกิดการพัฒนาที่สร้างประโยชน์ที่ดีต่อส่วนรวมในระยะยาวได้ ในส่วนของนโยบายพลังงานที่ดีนั้นควรมีทิศทางที่สอดคล้องกับเทรนด์ในอนาคตที่พลังงานทดแทนจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและผู้บริโภครายย่อยจะมีบทบาทของการเป็นผู้ผลิตไปในตัวมากขึ้น นโยบายพลังงานในอนาคตจึงควรเอื้อให้ผู้บริโภครายย่อยสามารถเข้ามามีบทบาทในตลาดพลังงานมากขึ้นโดยควรมุ่งเน้นไปที่การลดอุปสรรคต่างๆที่กีดกันผู้ใช้ไฟรายย่อยให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นด้วยต้นทุนทางการเงินที่จับต้องได้และกฎเกณฑ์ต่างๆไม่ซับซ้อนเกินเข้าใจ
รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Tags:
ARTICLE EXCLUSIVE