ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.ของแบงก์ชาติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา กนง.เริ่มแสดงความกังวลต่อการปล่อยสินเชื่อในตลาดที่อยู่อาศัยที่เริ่มมีสัญญาณของหนี้เสียหรือ NPLs ที่สูงขึ้น ทั้งนี้ความกังวลดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหากเราดูยอด NPLs ในสินเชื่อบ้านในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า NPLs ของสินเชื่อบ้านในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 นั้นอยู่ที่ 3.38% ของยอดสินเชื่อ เพิ่มจากไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 3.23% ขณะเดียวกันยอด NPLs ที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ยังสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2553
ด้านเครดิตบูโรก็ออกมาส่งสัญญาณเตือนเรื่องนี้สอดคล้องกับทางแบงก์ชาติ โดยกล่าวว่า นอกจากจะพบปริมาณหนี้บ้านค้างชำระที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยอดการปรับโครงสร้างหนี้ก็ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันข้อมูลจากเครดิตบูโรยังพบว่า กว่า 40% ของยอดปรับโครงสร้างหนี้บ้านกลับกลายเป็น NPLs ด้วย ทำให้แบงก์ชาติเริ่มส่งสัญญาณเอาจริงในการออกมาตรการป้องปรามเรื่องนี้ โดยอาจลดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าบ้านหรือ LTV เพื่อสกัดการเก็งกำไรและคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ
หากเราพิจารณาข้อมูลที่ทางแบงก์ชาติและเครดิตบูโรมีอยู่ในมือนั้นต้องยอมรับว่า ปัญหา NPLs ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและควรให้ความใส่ใจ อย่างไรก็ตามมาตรการที่จะออกมาคุมตลาดบ้านนั้นควรทำด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับตลาดบ้านในปัจจุบันด้วย จริงอยู่ที่ราคาบ้านมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแต่นั่นก็เป็นเพราะว่าราคาที่ดินและต้นทุนวัสดุมีการปรับตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการเองจึงไม่สามารถขายบ้านในราคาที่ถูกได้ เมื่อต้นทุนสำคัญทั้งที่ดินและค่าวัสดุสูงก็ส่งผลให้ราคาบ้านสูงตามไปด้วย
ฉะนั้นมาตรการที่ออกมาเพื่อคุมตลาดบ้านจึงต้องคำนึงถึงโครงสร้างตลาดทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทานที่เป็นอยู่ในตลาดบ้าน เพื่อไม่ให้กระทบกับความต้องการซื้อบ้านที่แท้จริงเพื่ออยู่อาศัย การที่แบงก์ชาติพิจารณาเรื่องการลด LTV ในการกู้ซื้อบ้านลงมานั้นย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการกู้ซื้อบ้านของผู้ที่ต้องการบ้านจริงอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในยามที่ราคาบ้านที่สูงในขณะนี้ หากวงเงินกู้ที่ได้ลดลง ก็ยิ่งทำให้คนเข้าถึงการซื้อบ้านยากขึ้นไปอีก โดยภาครัฐเองต้องไม่ลืมว่าบ้านนั้นในแง่หนึ่งนอกจากจะเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนหรือการเก็งกำไรแล้ว บ้านเองยังถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพและเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนมีนโยบายส่งเสริมให้คนมีบ้านเป็นของตัวเองด้วยมาตรการจูงใจต่างๆเพื่อเอื้อให้ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้การที่คนมีบ้านนั้นนอกจากจะรู้สึกมีความภูมิใจและความมั่นคงในชีวิตแล้ว การส่งเสริมให้คนมีบ้านยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนมีการออมเงินไปในตัวอีกทางด้วย
โดยสรุปแล้ว การที่แบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแสดงความเป็นห่วงปัญหาหนี้เสียในตลาดบ้านนั้นเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตามการออกมาตรการเพื่อสกัดการเก็งกำไรในตลาดบ้านนั้นควรคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงที่ราคาบ้านถูกผลักดันให้สูงขึ้นจากราคาที่ดินและค่าวัสดุที่สูงขึ้นต่อเนื่อง มาตรการรัฐที่ออกมานั้นไม่ควรมุ่งแต่จะสกัดในฝั่งอุปสงค์อย่างเดียว แต่ควรดูแลฝั่งอุปทานให้เกิดความเหมาะสมในด้านราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของประชาชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับผังสี การจัดโซนนิ่ง เพื่อให้เกิดการใช้ที่ดินที่เหมาะสม และมีปริมาณบ้านที่เพียงพอต่อความต้องการเพื่ออยู่อาศัยจริงในราคาที่จับต้องได้
รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Tags:
ARTICLE EXCLUSIVE