ถอดบทเรียนเอ็มดีเสนา “ดร.ยุ้ย เกษรา” ขับเคลื่อนธุรกิจในมหาวิกฤติโควิดป่วน หวังทุกคนรอบตัวต้องรอด

ผ่าวิธีคิดการทำงาน “ดร.ยุ้ย – เกษรา” ดิ้นสู้วิกฤติโควิด แจงพร้อมโอบอุ้มธุรกิจให้รอด – ช่วยเหลือ เยียวยา ดูแล 5 กลุ่ม ยกทฤษฎี C.A.P ตั้งรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทุกมิติ ชี้พิษเศรษฐกิจจากโควิด-19 สะเทือนภาคธุรกิจทั่วโลก ระบุ“อสังหาฯ” รับแรงกระแทกหนักหน่วง ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อหดหู่ คาดฟื้นตัวหลังปี 65

 

สำหรับกระบวนการดำเนินการและวิธีคิดวิธีการทำงาน ผ่านทฤษฎี C.A.P ประกอบไปด้วย
C: COPE การแก้ปัญหาระยะสั้น ด้วยวิธีการทำงานจากการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลด้วยตนเอง ทำแบบเชิงรุก เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาของแต่ละคนอย่างถ่องแท้ พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด วางแผนงานและตั้งทีม SENA War Room Center เพื่อให้ทุกคนได้รับความช่วยเหลือและการดูแลได้อย่างรวดเร็วที่สุด และมีศูนย์พักคอยที่เสนา เฮ้าส์ พหลโยธิน 30 เพื่อรองรับพนักงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง N-1 หรือ N-0 คนที่รอโรงพยาบาลได้รับการดูแลและรักษาทันท่วงที เป้าหมายหลักของการทำงานของทีม ไม่ใช่เพียงแค่ได้โรงพยาบาลเพื่อรักษาเท่านั้น แต่ทุกคนต้องได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย
 

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าที่ผ่านมา คนทั่วโลกต้องต่อสู้กับสงครามเชื้อโรคที่ยังมีแนวโน้มแย่สุดในอีก 1 – 2 เดือนนี้ หากกรณีที่เลวร้ายขั้นสุดอาจส่งผลให้หลายกิจการต้องปิดตัวลง คนตกงานเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้มองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติทั้งด้านสาธารณสุขและภาคเศรษฐกิจที่เกิดการหดตัวขั้นรุนแรง ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของสถานการณ์มหาวิกฤติโควิดที่ส่งผลบานปลายต่อภาพรวมเศรษฐกิจในวงกว้างและอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและโดยเฉพาะภาคอสังหาฯ คาดว่าค่อยๆฟื้นตัวได้หลังจากปี 65

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทางเสนาทำในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด คือ การดูแล ช่วยเหลือ รักษา และเยียวยา คน 5 กลุ่มที่อยู่รอบตัว ได้แก่ พนักงาน ลูกค้า ลูกบ้าน พาร์ทเนอร์ และสังคม พร้อมสร้างความแข็งแรงจากภายในองค์กรภายใต้พันธกิจแห่งปี “SENA Strong” เพื่อเตรียมตั้งรับกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกด้าน ผ่านทฤษฎี C.A.P ซึ่งเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤติระลอกนี้ไปให้ได้
 

นอกจากนี้มีการหาวัคซีนเพื่อเร่งฉีดให้กับพนักงาน ผู้รับเหมา คนงานทั้งคนไทยและต่างด้าว ขณะเดียวกันภายในแคมป์คนงานมีการแจกถุงยังชีพ / ตั้งศูนย์พักคอย / แจกฟ้าทะลายโจร / บริจาคเงินสร้างห้องแรงดันลบ และซื้ออุปกรณ์ ทางการแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด และวางแนวทางปฏิบัติ Covid Free Site หลังจากคลายล็อกแคมป์คนงานแล้วเพื่อป้องกันให้คนงานปลอดภัยที่สุด โดยเชื่อว่า “สายพานการผลิตเริ่มทำงานปกติและคนงานในแคมป์ต้องปลอดภัย

A: ADJUSTING เตรียมพร้อมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งแผนธุรกิจและปรับตัวรอจังหวะและโอกาสที่ดีในการเปิดตัวโครงการ จากแผนการเปิดตัวโครงการเมื่อต้นปี 64 วางไว้ 18 โครงการ มูลค่าประมาณ 16,764 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบจำนวน 5 โครงการ และแนวสูง 13 โครงการ โดยในช่วงที่ผ่านเปิดแล้ว 2 โครงการ คือ เสนาคิทท์ เวสต์เกต – บางบัวทอง และ เสนาคิทท์ ฉลองกรุง – ลาดกระบัง ปัจจุบันบริษัทมียอดขายที่รอรับรู้รายได้จากการโอน (Backlog) คิดเป็นมูลค่า 7,399 ล้านบาท (ณ สิ้น 31 มีนาคม 2564) และรับรู้รายได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ 4,390 ล้านบาท และทยอยรับรู้ในปีถัดไปตามลำดับ ขณะที่ตั้งเป้ารับรู้รายได้ 10,000 ล้านบาท และเป้ายอดขายที่ 11,000 ล้านบาท
 

P: POSITIONING มองถึงแผนระยะยาวและเตรียมการให้พร้อมหลังจากวิกฤติโควิดคลี่คลายลง เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม จากมหาวิกฤติโควิดทำให้ภาคธุรกิจอสังหาฯปีนี้ ถือว่าได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบครบทุกด้านทั้งมาตรการล็อกดาวน์ที่มีผลต่อ Supply Chain ทั้งระบบเศรษฐกิจ กำลังซื้อและดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหดตัว ทำให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการทำการตลาดหรือแม้แต่การเปิดโครงการใหม่ในช่วงเวลาที่เหลือหลังจากนี้ด้วย